“ I am a Thai graphic Designer ”


กราฟิกดีไซน์ | คุณค่า | นักออกแบบ

บทความโดย สันติ ลอรัชวี

การออกแบบเรขศิลป์ หรือ กราฟิกดีไซน์ (Graphic Design) ในปัจจุบัน
มีความหมายและรูปแบบที่กว้างขวางจนยากแก่การจำกัดความให้แน่นอน
และชัดเจนได้อาจเพราะความหลากหลายในบทบาทหน้าที่ของมัน

งานออกแบบกราฟิกนับได้ว่าเป็นแขนงหนึ่งของศิลปะที่มีความสากลที่สุดก็ว่าได้
ด้วยเหตุผลที่งานออกแบบเหล่านี้รายล้อมอยู่รอบตัวเรา บ้างทำหน้าที่
คอยอธิบายให้เราเข้าใจในสิงต่างๆ เช่น เราสามารถประกอบตู้หรือชั้นวางรองเท้า
ที่ซื้อมาจากห้างสรรพสินค้าได้ด้วยตนเองจากภาพประกอบที่แสดงวิธี
การประกอบที่เข้าใจได้ง่าย / บ้างประดับประดาสิ่งต่างๆ ให้สวยงามปละน่าประทับใจ
เช่น กระดาษห่อของขวัญที่มีลวดลายสวยงามทำให้สิ่งที่เราปรารถนาจะมอบ
ให้ใครคนหนึ่งมีคุณค่าและแสดงถึงความตั้งใจในการมอบให้ / บ้างระบุ แยกแยะ
หรือชี้ชัดให้เราสามารถจดจำสิ่งต่างๆได้ เช่น การที่เราสามารถใช้พื้นที่ต่างๆ
ในอาคารสาธารณะอย่างสนามบินได้อย่างถูกต้อง แม้กระทั่งในต่างประเทศที่ซึ่ง
เราไม่สามารถเข้าใจภาษานั้นได้ ป้ายสัญลักษณ์ในสนามบินทำให้ เรารู้ว่าห้องน้ำ
ไปทางไหน หรือจะไปรับกระเป๋าสัมภาระได้บริเวณใด เป็นต้น
ในแทบทุกที่ที่เราอยู่หรือไป ในแทบทุกสิ่งที่เราเห็นหรืออ่าน
ไม่ว่าจะเป็นป้ายจราจรตามท้องถนนหนทาง สัญลักษณ์หรือโลโก้ต่างๆ
หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ป้ายหาเสียงเลือกตั้ง แผงยาแก้หวัด ขวดน้ำดื่ม
ซองขนม ตั๋วรถไฟฟ้า ฯลฯ งานออกแบบกราฟิกล้วนแล้วแต่มีบทบาท
และหน้าที่แตกต่างกันไป

Allen Hurburt ได้จำแนกหน้าที่หลักๆของงานออกแบบกราฟิกไว้
ในหนังสือ The Design Concept โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
1. เพื่อการบอกเล่าเรื่องราวหรือให้รายละเอียดสิ่งต่างๆ ( to inform )
2. เพื่อแสดงถึงหรือชี้ชัดอัตลักษณ์ของบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ( to identify )
3. เพื่อการโน้มน้าวหรือชักจูง ( to persuade )
ประกอบกับหน้าที่ที่ต่างย่อยออกมาอีกมากมายในปัจจุบัน
ทำให้สามารถกล่าวได้ว่างานออกแบบกราฟิกนั้นมีคุณค่ามีความสำคัญต่อผู้คน
และสังคมมากกว่าคุณค่าด้านความงามแต่เพียงอย่างเดียว

“ทุกคนล้วนเป็นนักออกแบบ”
ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือผมก็ล้วนมีโอกาสในการสร้างงานออกแบบ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ /
ไม่ว่าจะมีทักษะหลักการหรือไม่ / มีจุดมุ่งหมายที่ดีและเหมาะสมหรือไม่
เราจะเห็นกิจกรรมทางการออกแบบที่นอกเหนือกิจกรรมทางวิชาชีพ (ที่ถูกทำโดยนักออกแบบ)
เกิดขึ้นอยู่รอบๆตัวเราเสมอ เช่น การเขียนป้ายรายการอาหารตามร้านก๋วยเตี๋ยวหรือร้านอาหาร
ตามสั่งที่ถูกทำขึ้นเองโดยเจ้าของร้าน การทำประกาศภายในบริษัทโดยพนักงานธุรการ
ใบปลิวขายสินค้าหรือบริการต่างๆ ตลอดจนข้อความหรือลวดลายที่ถูกพ่นอยู่ตามกำแพงทั่วไป

จากตัวอย่างที่กล่าวมาล้วนแสดงให้เห็นถึงความแพร่หลายและผูกพันของงานออกแบบกราฟิก
ที่มีต่อผู้คนทั่วไป แต่กระนั้นก็ยังมีการแบ่งแยกงานออกแบบจากการประเมินคุณค่าด้วย
หลักเกณฑ์ต่างๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะในหมูนักออกแบบ

หลักเกณฑ์ที่ว่าอาจจะมาจากรสนิยมที่สังคม (นักออกแบบยอมรับ) ทฤษฏีหรือหลักการออกแบบ
ที่ได้รับแนวคิดมาจากตะวันตก กระแสนิยมของแนวคิดและรูปแบบต่างๆในการออกแบบ
ความร่วมสมัยของงานออกแบบ เทคโนโลยีและระบบอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นปัจจัยสำคัญ
ในการกำหนดมาตรฐานของผลงานออกแบบ แต่หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ว่านั้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีผล
ต่อกิกรรมทางการออกแบบของผู้คนทั่วไปมากนัก เรายังพบเห็นงานออกแบบที่อยู่นอกเหนือ
กฎเกณฑ์หรือมาตรฐานดังกล่าวอยู่เสมอ และความจำเป็นทางการสื่อสารในชีวิตประจำวัน
ก็ดูจะมีอิทธิพลต่อการเกิดกิจกรรมทางการออกแบบของผู้คนทั่วไป

แน่นอน ทุกๆ คนล้วนออกแบบได้ เช่นเดียวกันกับทุกๆ คนล้วนร้องเพลงได้
แต่… อาชีพนักออกแบบหรือนักร้องก็ไม่ได้เป็นกันได้ทุกคน
ซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นภาระอย่างหนึ่งของนักออกแบบว่าจะทำอย่างไร
ให้เห็นความแตกต่างระหว่างงานออกแบบมืออาชีพ (โดยนักออกแบบ)
กับงานออกแบบทั่วไปในชีวิตประจำวัน (โดยคนทั่วไปหรือสมัครเล่น)

ลองมองไปในรายละเอียดกันอีกที
“ไม่มีแบบตัวอักษรที่แย่ ” ข้อความของ Eric Spiekermann จากหนังสือ Stop Stealing Sheep &
Find Out How Type Work ทำให้เราสามารถตั้งคำถามต่อการประเมินคุณค่าของรูปแบบ
งานเรขศิลป์ ที่นำไปสู่ความเชื่อที่ว่าไม่มีรูปแบบใดที่มีความสมบูรณ์อย่างแท้จริง
และไม่มีรูปแบบใดที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง

จากแนวคิดลักษณะนี้แสดงให้เห้นถึงการให้ความสำคัญต่อบริบทในการนำไปใช้
มากกว่าจะให้ความสำคัญไปที่รูปแบบเดี่ยวๆ ที่เปรียบเสมือนวัตถุดิบทางการออกแบบ
ในแง่นี้ตัวหนังสือที่ได้จากการเขียนด้วยลายมือ จะถูกจัดให้มีคุณภาพและความสำคัญ
เทียบเท่ากับตัวเรียงพิมพ์หรือแบบอักษรในคอมพิวเตอร์ ดังนั้นคุณค่าอาถูกประเมินได้จากบริบท
ทางการสื่อสารมากกว่าจะพิจารณาเพียงแค่ว่า ตัวเรียงพิมพ์หรือตัวอักษรในคอมพิวเตอร์มี
หลักการออกแบบและมาตรฐานในการประดิษฐ์ตัวอักษรมากกว่าลายมือ

ไม่ว่าในยุคสมัยใด ก็ยังคงมีการประเมินคุณค่าของรูปแบบงานออกแบบกราฟิกด้วยมุมมองและ
หลักเกณฑ์ต่างๆ อยู่เสมอ แต่ในขณะเดียวกันความคลุมเครือของคุณค่าของงานออกแบบกราฟิก
ก็ดูจะมีมากขึ้นด้วย บริบทเข้ามามีบทบาทในการกำหนดคุณค่า ขณะที่การประเมินคุณค่าก็อาศัย
บริบทเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณามากขึ้น

มีนักออกแบบจำนวนไม่น้อย ที่จงใจหยิบยืมรูปแบบที่ถูกประเมินคุณค่าในเชิงลบนำมาใช้ใน
การออกแบบของตน เช่น รูปแบบที่ถูกประเมินว่าไม่มีรสนิยมไม่ร่วมสมัย (เชย)
หรือ ไม่มีหลักการออกแบบหรือมาตรฐานการผลิต บางคนนำรูปแบบเหล่านี้มาลอกเลียน
ในลักษณะที่จงใจ ด้วยวัตถุประสงค์ทางการออกแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งแนวทางเหล่านี้จัดได้ว่า
เป็นการทำลายกำแพงทางการประเมินคุณค่า และก่อให้เกิดความไม่แน่นอนตายตัว
ในการตัดสินคุณค่าของรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อันนำไปสู่การเปิดกว้างมากขึ้นในงานออกแบบ

ดังนั้น ถ้างานออกแบบกราฟิกมีคุณค่าต่อการดำรงอยู่ของผู้คนและสังคมอย่างที่กล่าวมา
ตั้งแต่ต้นแล้ว ทุกๆคนในสังคมก็ควรตระหนักถึงความสำคัญนั้น โดยเฉพาะตัวนักออกแบบเอง
ที่มีภารกิจที่มีความสำคัญเกินกว่าจะผลิตงานออกแบบไปโดยมองความสำเร็จด้านใดด้านหนึ่ง
เพียงด้านเดียว นอกเหนือจากความสำเร็จเชิงรูปแบบที่มีความน่าสนใจและมีสุนทรียภาพ
ความสำเร็จด้ายความคิดสร้างสรรค์ที่สดใหม่และเฉียบคม
และความสำเร็จที่บรรลุตามวัตถุประสงค์แล้ว เราอาจจำเป็นจะต้องพิจารณาผลงานของเราด้วย
ว่างานออกแบบของเรานั้นไม่ได้ทำร้ายใครไม่เป็นมลภาวะ
หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลและส่วนรวม

ถ้าจะให้บอกว่ากราฟิกดีไซน์คืออะไร ก็อาจจะต้องขออุปมาว่า
“การออกแบบกราฟฟิก ก็อาจเปรียบได้กับการพูดจาที่มีน้ำเสียงน่าฟัง
มีลีลาอันน่าติดตาม มีลำดับเนื้อหาเป็นที่เข้าใจ ใช้ภาษาได้เหมาะสมกับผู้ฟัง
และที่สำคัญ…ย่อมไม่ใช่การพูดโกหกบิดเบือนจนดำกลายเป็นขาว


3 Comments so far
Leave a comment

good stuff

Comment by SAN

เป็นบทความที่ดีมากเลยครับ

Comment by โปรแกรมฟรี

ถ้าจะให้บอกว่ากราฟิกดีไซน์คืออะไร ก็อาจจะต้องขออุปมาว่า
“การออกแบบกราฟฟิก ก็อาจเปรียบได้กับการพูดจาที่มีน้ำเสียงน่าฟัง
มีลีลาอันน่าติดตาม มีลำดับเนื้อหาเป็นที่เข้าใจ ใช้ภาษาได้เหมาะสมกับผู้ฟัง
และที่สำคัญ…ย่อมไม่ใช่การพูดโกหกบิดเบือนจนดำกลายเป็นขาว

ผมชอบตอนสรุปจังเลยครับ

Comment by DesignOHO




Leave a comment