“ I am a Thai graphic Designer ”


กราฟิกดีไซน์ : กิจกรรมหรือวิชาชีพ ? (1)

กราฟิกดีไซน์ : กิจกรรมหรือวิชาชีพ ? (1)
โดย คุณประชา สุวีรานนท์  (ได้รับอนุญาตในการเผยแพร่บทความแล้ว)

กราฟิกดีไซเนอร์คือใคร ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ตอบไม่ยาก เขาคือกลุ่มคนที่มีความรู้พิเศษ
เกี่ยวกับการสื่อสารทางสายตา ในยุคหนึ่งเป็นเรื่องของตัวพิมพ์และการพิมพ์ แต่ในยุคนี้รวมเอา
สื่ออื่นๆ เช่น นิทรรศการ อีเวนต์ อินเตอร์เน็ต และการประชาสัมพันธ์หลายประเภทเข้าไปด้วย
คนกลุ่มนี้มีลูกค้าที่ทำธุรกิจอาจจะอยู่ในภาคเอกชน ราชการหรือเป็นใครก็ได้

ในแง่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กราฟิกดีไซเนอร์มีศัพท์แสงที่ใช้ในหมู่ของตนเอง
เช่น คำว่าการแก้ปัญหา” (problem solving) หรือกระบวนการออกแบบ” (design process)
รวมทั้งศัพท์เทคนิคและชื่อซอฟต์แวร์แปลกๆมากมายให้คนวงนอกได้งงเล่น

อย่างไรก็ตามนิยามที่กว้างขนาดที่เป็นอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับการสื่อสารทางสายตา
ย่อมทำใหคนเห็นว่ากราฟิกดีไซด์เป็นทักษะที่ใครๆก็ทำได้ ช่างตัดสติ๊กเกอร์ แม่ค้าในตลาด
วินมอเตอร์ไซค์หน้าปากซอย เลขานุการ หรือเด็กนักเรียนที่ทำการบ้านส่งครู
ล้วนแต่ใช้กราฟิกดีไซน์เมื่อเขาต้องการสื่อสารกับคนรอบข้าง

กราฟิกดีไซน์จึงเป็นวงการที่แทบจะไม่มีคำว่าสมัครเล่น
เพราะคนที่ใช้มันเยี่ยงกิจกรรมในชีวิตประจำวันมีมากกว่าคนที่ใช้มันแบบมืออาชีพ
คนที่หยิบปากกาเมจิกเขียนป้ายบอกเลขบ้านหรือราคาสินค้าของตนเอง
มีมากกว่าคนที่ออกแบบนิตยสารหรือทำรายงานประจำปีของธนาคาร

หรือถ้ายึดเครื่องมือและเทคนิคการผลิตเป็นตัวตั้ง คนที่ทำกราฟิกก็มีมากมายมหาศาล
ดังที่มักพูดในวงการว่า ถ้านับจากกจำนวนของคนที่ใช้เดสก์ทอปพับลิชชิ่งของแมคอินทอช
เป็นเครื่องมือประกอบวิชาชีพแล้วละก็ นี่ต้องนับว่าเป็นดีไซน์สาขาที่รุ่งเรืองที่สุด
โดดเด่นเหนือกว่าสาขาอื่นๆ อย่างน้อยก็ในทางปริมาณ

นี่เป็นการมองปรากฏการ์นี้ในแง่ดี จะว่าไปแล้วกราฟิกดีไซด์คล้ายกับทักษะ
ในการเขียนหนังสือ ดนตรีและกีฬา อีกทั้งเป็นสิ่งที่ใครๆก็ทำเป็นอาชีพได้
โดยไม่ต้องมีดีกรีใบรับรอง หรือกระทั่งการฝึกอบรมจากโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาใดๆ

เห็นได้ชัดเมื่อมองไปในวงวรรณกรรมในรอบสิบปีที่ผ่านมานี้ นักเขียนระดับซีไรท์อย่าง
วินทร์ เลียววาริณ และนักเขียนรุ่นใหม่อีกหลายคน ได้นำเอากราฟิกดีไซน์มาใช้
ในการสร้างสรรค์วรรณกรรมแบบใหม่ๆ นอกจากนั้นกระแสหนังสือทำมือ
ที่ปรากฏในเฟสทิวอลทั้งในเชิงศิลปะและบันเทิงต่างๆ ยังทำให้เกิดสิ่งแปลกใหม่
ในวงการกราฟิกมากมาย

ที่มองข้ามไปไม่ได้คือกราฟิกดีไซน์กลายเป็นกิจกรรมทางศิลปะ จิตรกร
ศิลปินกราฟิตี้และเซเลบริตี้บางท่าน ใช้กราฟิกดีไซน์สร้างผลงาน
ทั้งที่เป็นศิลปะและของทำขาย ทั้งที่อยู่ในแกลเลอรี่และตลาดของ SME
ทั้งด้วยคุณภาพและปริมาณที่ทำเอากราฟิกดีไซเนอร์มืออาชีพต้องถึงกับได้อาย

นับว่ามีเหตุผล เพราะโดยพื้นฐานแล้วกราฟิกดีไซน์เป็นศิลปะในการสื่อสารอย่างหนึ่ง
ในสหรัฐอาจารย์ดีไซน์บางคนไปไกลถึงกับเสนอว่า วิชานี้น่าจะถูกจัดอยู่ในสาขา humanist
หรือมานุษยศาสตร์ ส่วนวงการที่ใกล้ชิดกันก็น่าจะเป็นวรรณคดีหรือดนตรี
มากกว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์

เช่นเดียวกับการเขียนหนังสือ กราฟิกดีไซน์เป็นสิ่งที่ใครๆก็ทำได้ จะเพื่อบันทึกข้อมูล
รายงานข่าว โน้มน้าวจูงใจ หรือการแสดงออกส่วนบุคคลก็ได้

ต้องยอมรับว่า ข้อดีของการเป็นกิจกรรมต้องทำให้กราฟิกดีไซน์แตกต่างจากดีไซน์สาขาอื่นๆ
คนที่ทำไม่จำเป็นต้องผ่านการร่ำเรียนมาในระบบการศึกษา งานดีๆอาจจะเกิดจากคนที่ไม่มีสถาบันรับรอง

แต่ความแพร่หลายใขเชิงกิจกรรมก็ชวนใหห้คิดว่ามันไมได้เป็นทักษะที่ซับซ้อนถึงขนาดจะเรียกได้ว่าวิชาชีพ
มองในแง่สร้างสรรค์ เป็นเรื่องของรสนิยมหรือความชอบพอส่วนตัว ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
มองในแง่สินค้า ก็เป็นธุรกิจบริการที่อาศัยการขายแบบง่ายๆ
อาศัยความสัมพันธ์กับลูกค้าแบบผู้ซื้อผู้ขาย มากกว่าจะเป็นมืออาชีพ

ดังนั้น ถึงแม้กราฟิกดีไซเนอร์จะมีจำนวนมากมายและอยู่ในทุกซอกทุกมุมของสังคม
แต่เชิงวิชาชีพหรือวงการออกแบบที่มีองค์ความรู้เป็นของตัวเอง กลับไม่มีใครรู้จักหรือยอมรับนับถือ

หากแต่เรียกมันว่าวิกฤติอัตลักษณ์ของอาชีพกราฟิกดีไซน์ และลองสำรวจดู
เราอาจะพบว่ามีประเด็นการออกแบบมากมายหลายรูปแบบ

มองไปที่ระบบการศึกษา จะพบว่าทุกๆ ปีเด็กมัธยมจำนวนมาก โดยไม่รู้ชัดว่ากราฟิกดีไซน์นั้นคืออะไร
ตัดสินใจว่านี่เป็นอาชีพที่มีอนาคตรุ่งโรจน์ เด็กอายุไม่ถึงสิบแปดเหล่านี้ จะถูกดูดกลืนเข้าไป
โดยโรงเรียนดีไซน์จำนวนมาก ทั้งในภาครัฐและเอกชนมากมาย ใช้เวลาสี่ปี
เรียนเรื่องตัวพิมพ์สักสองคอร์ส หัดวาดรูปตวามใจชอบสักสองปี
ทำโฆษณาดูกันเองสักสิบสิบชั่วโมง และใช้คอมพิวเตอร์อย่างกระท่อนกระแท่น
สักร้อยชั่วโมง จากนั้น ก็ออกมาในสภาพที่พร้อมสำหรับหน้าที่ดีไซเนอร์มืออาชีพ
พร้อมด้วยความคาดหวังว่าจะมีลูกค้ารออยู่เต็มไปหมด

ไม่ต้องพูดถึงการที่ชื่อสาขานี้ในแต่ละมหาวิทยาลัยต่างๆ แทบจะไม่มีที่ไหนใช้ตรงกัน
บ้างเรียกนิเทศศิลป์ บ้างเรียกเลขศิลป์ บ้างเรียกนฤมิตศิลป์ บ้างเรียกจักษุศิลป์ ฯลฯ
ซึ่งล้วนแต่ทำให้ผู้ปกครองหรือคนออกค่าหน่วยกิตต้องงุนงง

ในกลุ่มงานที่เป็นสิ่งพิมพ์และเข้าถึงประชาชนในวงกว้างอย่างเวบไซต์
รวมทั้งนักสร้างคาแรกเตอร์ต่างๆ ก็ไม่พยายามถูกเรียกว่าเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์
ด้วยกลัวว่าจะทำให้ลูกค้าคิดว่ารับผิดชอบได้ไม่รอบด้ายหรือครบวงจร

ในขณะเดียวกัน คนที่เรียกตัวเองว่ากราฟิกดีไซเนอร์ก็มีอยู่เพียงหยิบมือ
พื้นที่ของเขาหดแคบลงจนเหลือแต่ในวงที่เรียกกันว่าคอร์ปเปอเรตดีไซน์
หรือที่เกิดขึ้นใหม่คือนักออกแบบตัวอักษรหรือไทป์ดีไซเนอร์

มองไปที่สื่อ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ถึงเวลาสัมภาษณ์ดีไซเนอร์ทีไร
ก็จะเห็นใบหน้าซ้ำๆ ซากๆ อยู่เสมอ

ปรากฏการณ์หนึ่งของการไม่มีเส้นแบ่งระหว่ากิจกรรมกับวิชาชีพก็คือ
มือสมัคครเล่นสามารถเข้ามาแทนทีี่มืออาชีพ ขออธิบายก่อนว่าชีวิตของ
อาชีพกราฟิกดีไซเนอร์นั้น ขึ้นต่อการแข่งกันเสนอแบบให้ลูกค้าหรือที่เรียกว่าพิตช์
การพิตช์แบบไทยๆ ต่างจาการเสนอขายทั่วไป เพราะการจะเอาใครเข้าแข่งขันหรือมีตัวเลือก
จำนวนเท่าใดลูกค้าเป็นผู้กำหนด ในเกมการพิตช์แบบนี้กราฟิกดีไซน์จึงเป็นเพียง
หนึ่งในสินค้าสำเร็จรูปที่ลูกค้าสามารถชี้นิ้วเลือกได้โดยง่าย ยิ่งไปกว่านั้น
เมื่อไม่ได้รับการคัดเลือกแล้ว ก็ไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ ซึ่งก็เท่ากับว่ามีฐานะเป็นเพียง
ผู้เข้าร่วมประกวดผู้หนึ่งเช่นในการประกวดทั่วไป

ที่สำคัญคือ หนักๆเข้า การจัดประกวดทั่วไปก็เข้ามาแทนการพิตช์ เช่น
ถ้าลูกค้าอยากได้โลโก้สักอัน แทนที่จะจ้างมืออาชีพสักรายหนึ่งด้วยเงินสักแสนบาท
ก็ใช้เงินแสนนั้นไปกับการประกวด แม้เมื่อกลายเป็นรางวัลจะได้กันคนละไม่ถึงหมื่น
แต่คนนับพันก็จะเฮละโลส่งงานเข้าประกวด ซึ่งในที่สุดลูกค้าก็ได้ถึงสองต่อ
นั่นคือทั้งโลโก้แล้วข่าวประชาสัมพันธ์ในสื่อ

เกิดเป็นมาตรฐานที่ถูกยอมรับกันสืบไปว่าใครๆก็เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ได้

ถึงที่สุดแล้ว วิกฤติอัตลักษณ์ของกราฟิกดีไซเนอร์แสดงออกอย่างชัดเจน
ตรงที่ไม่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มและต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของ
คนทำมาหากินด้วยทักษะนี้ กราฟิกดีไซเนอร์ไม่มีสมาคมวิชาชีพ (หรือมีอยูู่แต่ไม่มีใครรู้จัก)
เป็นตัวแทนของตน ปัญหาต่างๆ ที่จะเห็นว่ามีการร้องเรียนกับชุมชนของตนอยู่เป็นประจำ
ในเว็บไซต์ เช่น ราคากลางในการเสนองาน มาตรฐานในการประกวดงาน หรือลิขสิทธิ์ตัวพิมพ์
ล้วนเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ไม่มีองค์กรอย่างเป็นทางการในการเจรจารณรงค์
และเรียกร้องประโยชน์ทั้งต่อชุมชนและสังคม

มองในมุมกว้างสิ่งที่ตามมาคือไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมีมาตรฐาน
ไม่น่าแปลกที่วงการนี้ไม่มีแนวทาง มีแต่แฟชั่นที่ขึ้นมาและตกไปเพราะเมื่อขาดการรวมตัวกัน
ก็ย่อมไม่มีใครหาญกล้ามากำหนดเรื่องมาตรฐานความสวยงาม

มาถึงตรงนี้ ข้อสรุปน่าจะเป็นว่ากราฟิกดีไซน์ที่เป็นกิจกรรมนั้นเจริญขึ้นแต่ที่เป็นวิชาชีพนั้นเจริญลง

(ตีพิมพ์ในมติชน สุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 17-23 เมษายน พ.ศ. 2552 ฉบับที่ 1496)


11 Comments so far
Leave a comment

เห็นด้วยเกิน 70% ครับ เรื่องพวกนี้พูดกันบ่อยๆทั้งในวงเหล้าและตามเว็บบอร์ด ลูกค้าเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาอีกสักหน่อย ขึ้นอยู่กับมาตรฐานและโอกาสของแต่ละคนที่จะไปเจอลูกค้าแบบไหน ลูกค้าที่เปิดกว้าง+เงินดี หรือลูกค้าแนวอาแป๊ะ+ไม่เปิดใจ+เงินจำกัด รายหลังนี่จะเจอกันเยอะ เพราะสังคมบ้านเรายังไม่เข้าใจคำว่ากราฟิกดีไซน์มากนัก ต้องทนกันไปกับปัญหานี้ โดยเฉพาะเด็กที่จบใหม่ๆเจอลูกค้าที่ว่ากันแทบทุกราย การทำงานส่วนนึงต้องตอบโจทย์ลูกค้าและต้องมีเอกลักษณ์ที่มันสร้างสรรค์ของตัวคนที่ออกแบบแฝงอยู่ งานบ้านเราโดยมากการตอบโจทย์ลูกค้าไม่ใช่ปัญหา ลูกค้าจะเอา เราก็ทำงานกันแบบเสกให้หรือหาทางทำออกมาตามโจทย์ได้แบบเนียนๆ แต่ปัญหาก็คือการสร้างเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ที่แฝงอยู่ในชิ้นงานมันไม่ค่อยจะมี ทำให้คุณค่าของงานมันจืดจาง สวยแบบตามเทรนด์ งามแบบพิมพ์นิยม จนมันขาดความต่างในเรื่องการสร้างสรรค์

อีกส่วนที่ผมว่ามันเป็นปัญหาใหญ่มากๆ คือเรื่องคนทำงานในวงการบ้านเรานี่แหล่ะครับ บางครั้งแล้วพวกเราอาจจะต่างคนต่างภูมิใจในวิชาชีพของเรามากเกินไป จนมันเกิดค่านิยมว่าต้องเก่งต้องดังจนเกิดการแข่งขันกันแบบลึกๆ หวังไว้ว่าจะต้องเป็นซุปเปอร์สตาร์ดีไซเนอร์เด่นดังกว่าใคร

อันที่จริงไม่ใช่เรื่องผิดที่ใครสักคนอยากเก่ง-อยากดัง โหน่ง-3 ช่ายังสถาปนาตัวเองเป็นตลกซุปเปอร์สตาร์แบบฮาๆได้ นับประสาอะไรกับคนทำงานในสายวิชาชีพนี้ แต่วิธีการก้าวเดินไปแบบมีปฎิสัมพันธ์และมนุษย์สัมพันธ์กับคนรอบข้างและเพื่อนๆร่วมวงการมันน่าจะมีคุณค่ามากกว่า

ไม่มีใครเป็นที่หนึ่งค้ำฟ้า สักวันนึงคลื่นลูกใหม่ๆก็จะก้าวมาแทนคลื่นลูกเก่า สิ่งที่เราควรจะช่วยกันทำน่าจะเป็นการละลายค่านิยมแบ่งก๊กแบ่งเหล่า หรือการพยายามไม่มองเพื่อนร่วมวงการว่าเป็นคู่แข่ง หาโอกาสชวนคนนอกวงที่ไม่เรารู้จักมาแจม มาจอย มาคุย เพราะทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้

ว่าลึกๆแล้วพวกเรายังเป็นแบบที่ว่า เพราะไม่แน่ใจว่าคนอื่นๆจะเป็นแบบนั้นด้วยรึเปล่า จะเข้าไปคุยกับเขาก็เอ๊ะ เราจะทำตัวยังไง หรือ ไอ้นี่มันเทพ มันไม่คุยกับเราแน่ๆเลย …เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ถ้ารวมกันไม่ติดแล้ว การพัฒนาในภาพรวมของประเทศที่จะไปร่วมทำอะไรกับประเทศเพื่อนบ้านหรือในระดับนานาชาติก็คงเป็นไปในแบบตัวใครตัวมันเหมือนเดิม

กิจกรรมที่เกี่ยวกับงานด้านนี้หลายต่อหลายงานที่เกิดขึ้น รูปแบบที่เห็นๆกันก็คือมันดูสูงและเข้าไม่ถึง จัดแบบเฉพาะกลุ่มก้อน และน้อยครั้งมากที่จะเปิดโอกาสให้เด็กๆ หรือคนเก่งๆที่ไม่มีพื้นที่ในการแสดงไปเข้าร่วม มีอยู่อย่างเดียวที่สามารถจะทำได้คือเป็นเพียงผู้รับฟังและผู้ดูที่ดี ฟังจบดูจบ ก็จากกันไปแบบมึนๆ …เรื่องกิจกรรมในบ้านเรา 2-3 ปีที่ผ่านมาดีขึ้นตามลำดับ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการทำกันสนุกๆกันเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการมีสมาคมเป็นรูปเป็นร่างกันเลย แต่เวทีที่ให้แสดงออกแบบเปิดกว้างจริงๆสำหรับทุกผู้ทุกคนมันก็ยังน้อย หรือที่มีก็จะเป็นแนวๆที่มันค่อนข้างจะมั่วซั่วไปสักนิด เพราะสังคมยังเข้าใจงานกราฟิกในลักษณะฉาบฉวยอยู่ อย่างที่พี่เจ้าของบทสัมภาษณ์บอกเอาไว้นั่นแหล่ะครับ

กลุ่มคนที่มีสกิลใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้แต่ไม่มีสกิลในการออกแบบ ที่มักจะตัดราคา, ก๊อปปี้งาน อะไรพวกนี้ ผมว่าอย่าไปคิดมากกันเลย กลุ่มคนพวกนี้เขาทำงานกันอีกในตลาด ซึ่งเราคงไปทำงานแข่งกับเขาด้วยวิธีแบบนั้นไม่ไหว มันแสลงใจตัวเอง หม่นหมองความรู้สึก ถ้าลูกค้าเห็นคุณค่าของงานที่ดี เขาก็คงไม่อยากทำงานกับคนกลุ่มที่ว่า ..คนกลุ่มดังกล่าวจะเรียกตัวเองว่านักออกแบบด้วยการหลอกตัวเองหรือความภูมิใจอะไรก็ตาม แต่มันก็เป็นเรื่องที่เราต้องทำงานในแบบของเราต่อไป บางทีลูกค้างี่เง่าก็อาจจะมีงานที่ไม่ได้ดั่งใจเราบ้าง เราอาจจะทำงานเพื่อเงินในบางครั้ง

ทำงานเอาสนุกและทำออกมาอย่างตั้งใจในบางเวลา แต่อย่างน้อยเราก็ต้องทำงานในมาตรฐานของเรา และอย่าทำตัวหิวงานจนมากเกินไป ผมว่าก็พอแล้วล่ะ

Comment by 8e88

จริงตามที่กล่าว ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อเรื่องการดำเนินกิจกรรมมากกว่าประกอบวิชาชีพ แต่รู้สึกถึงคำที่กล่าวว่า “เจริญขึ้น หรือเจริญลง” ดูจะเป็นการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงเกินไปหน่อย กลไกธรรมชาติคือ เกิดขึ้น มีอยู่ เปลี่ยนแปลง และดับสลาย รูปแบบการสื่อสาร คำนิยามต่างๆล้วนเปลี่ยนแปลงตามการเวลา และกราฟฟิกดีไซน์ก็ดำเนินอยู่ตามครรลองนี้ หากเมล็ดพันธ์นี้ไม่สามารถเติบโตแข็งแรงในประเทศไทย หรือแม้จะต้องถูกถีบไปอยู่ปลายห่วงโซ่การตลาด มันก็เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น(ถ้ามันยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆนะครับ)

ไม่ได้มาชวนทะเลาะนะครับ ผมว่าเรื่องนี้ดีมากๆ เราควรมองภาพกว้างๆ แต่การจะพัฒนา หรือแก้ปัญหานั้นต้องเริ่มจากตัวเองเป็นอันดับแรก

Comment by ศิลปะในโลกที่สาม

ผมมีความรู้สึกชื่นและชอบในบทความนี้เป็นอย่างมากครับ และดีใจที่มี เรื่องราว ทัศนะ จิตนา รวมถึงเจตนา ที่ผ่านมุมมองในโสตของการตรึกตรอง อย่างถ่องแท้ครับ

แต่โดยองค์รวมแล้วผมเองก็ยังมีความคิดเห็นที่ค่อนข้างจะแตกต่างอยู่ ในหลายเรื่องและหลายประเด็นครับ
อันเนื่องมาจากประสบการณ์จริง ตรง และอ้อมที่ได้ผ่านและรวบรวมมา ซึ่งน่าจะเป็นว่า กิจกรรมและความเป็นวิชาชีพนั้น น่าจะมาคู่กันมากกว่า ในยุคและสมัยที่เป็น อันตรรกะ คำตอบอยู่ทั่วทุกตัวคนแล้ว ความเป็นกราฟฟิค ศิลปะไม่มีผิดและไม่มีถูก กราฟฟิค คือทางออกอีกมุมนึงของความเป็นศิลป์จรรโลงเท่านั้น!! ขึ้นชื่อว่ากราฟฟิค หรือศิลปิน ย่อมมีหนทางระบาย ขีดเขียน ฯลฯ ตามถนัด แต่สิ่งนึงที่ทุกคนมีไม่เท่ากันนั้น คือ ความมีคุณค่า ซึ่งทุกแนว ทั้งกิจกรรม หรือวิชาชีพ ถ้าขาดตรงนี้ก็ไร้ความจรรโลงสื่อศิลป์ให้ออกมาอย่างสวยงาม
อนึ่ง ในยุคสมัยปัจจุบันนี้คงปฎิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจ ผลประโยชน์กำไร ย่อมมีมามาก จนบางทีอาจจะทำลายส่วนที่เป็น เอกภาพ ในตนเองได้ แต่ทุกคนกำลังมุ่งไปในทางเดียวกันครับ คือ ความมีอาชีพเพื่อเลี้ยงปากท้อง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ล้วนแต่มีผลประโยชน์มาข้องเกี่ยวด้วยแล้วคงไม่มีใครทิ้งขว้างมันอย่างแน่นอน

ที่กล่าวมาจะน้ำลายแตกนี้ แค่อยากจะให้รู้ครับว่า ทุกทิศทาง ทุกการจรรโลง เพื่อความอยู่รอดนี้ ไม่มีคำว่า เจริญลงครับ ลองคิดดีดีอีกที เพื่อแต่เราไม่ได้มองในมุมที่กลับกันเท่านั้นเอง

ผมเป็นกราฟฟิคดีไซน์คนนึงที่ทำอาชีพนี้มานานมากแล้วครับ ส่งงานประกวดหรือแข่งขันมาก็หลายเวทีอยู่ ทั้งได้รางวัลและไม่ได้คละเคล้กันไป ไม่ว่าจะเป็นงาน ศิลปะ ต่างๆ ที่สร้างจากมือ หรืองานที่สร้างจากคอมฯ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นมืออาชีพที่ลูกค้าไว้วางใจผมต้องลดลงเลยหรือแม้แต่จะเปลี่ยนไปใช้บริการเจ้าอื่น

ทุกย่างล้วนเป็น ธรรมชาติ ครับ ไม่มีอะไรดีเกินไป หรือเลวเกินไป ทุกอย่างจะถูกหลอมตัว จนเป็นปัตเจต ในตัวเพียงคนๆ เดียว และคนเพียงคนเดียวนี้แหละครับที่จะเป็นผู้กำหนดต่อความเป็นไปของตัวเองได้ดีที่สุด อยู่ที่ว่าจะแคร์ต่อสายตาคนอื่นหรือเปล่า หรือจะเลือกเอาปากท้องของตัวและคนเคียง

ส่วนมาตรฐานของความสวยงามนั้นคงไม่มีใครหน้าใหนอาจหาญที่จะกำหนดมันครับ ผมเชื่อเหลือเกินว่าถ้าใครเป็นคนที่กำหนดมัน คนๆนั้นก็จะไร้ซึ่ง สมถรรภาพ ที่จะสามารถเสพ ศิลป์ ได้ในทันที!! และเรื่องของการวิภาควิจารณ์งานนั้น ผมก็เชื่ออย่างร้ายแรงอีกว่า ถ้าคนที่มาวิจารณ์นั้นยังไม่รู้จักคำว่า ศิลปะคือ? องค์ประกอบคือ? ทัศนะศิลป์คือ? แค่3อย่งก่อน แล้วล่ะก็คนๆนั้นก็ไม่ต่างจาก พ่อค้าแม่ค้าที่จะหยิบสีเมจิ มาเขียนป้ายราคา เพื่อบอกราคาแน่ โดยมีจุดประสงค์แค่ว่ามันจะช่วยให้ขายได้เท่านั้น พอของที่ขายหมด ก็ขย่ำป้ายราคาทิ้ง!! ซึ่งคนประเภทนี้มีอยู่มากในโลกของกราฟฟิค เพราะจากที่ผมได้ ดู ได้ชมตามสื่อต่าง

ในวงการนี้มีอยู่ 4 จำพวกครับ
1.รู้แต่ไม่ชี้ 2.ไม่รู้แต่ชี้ 3.รู้แล้วชี้ 4.ไม่รู้และไม่ชี้
ซึ่งในบ้านเรานี้ จะเป็นพวกที่ 2 ซะประมาณ 90 % เห็นจะได้
ส่วนพวกที่รู้แล้วชี้นั้น ก็จะโดน พวกที่เหลือ เค้าเมิน ไม่คบ เป็นวิสัย แปลก!!

ต้นไม่จะงอกงามและให้ดอกผลได้ดีนั้นขึ้นอยู่ที่การดูและเอาใจใส่ แต่ถึงแม้ว่าออกดอกผลมาแล้วนั้นก็ไม่ใช่จะสวยงามทุกผลทุกดอกไป มันเป็นไปไม่ได้
ผมจึงคิดและกระทำอยู่อย่างเดียวเสมอมาคือ มันเป็น ธรรมชาติ โดยแท้ครับ…..
(ขออภัยที่ไม่มีศัพท์ภาษาอังกฤษแปลกๆ แบบที่ นักออกแบบหลายๆ ท่านนิยมพูดกัน เพียงเพราะผมไม่อยากใช้มัน เพราะเราคือ คนไทยครับ เอาเยี่ยงแต่ไม่จำเป็นต้องเอาอย่างต่างประเทศ ใครไม่นิยมแต่ผมนิยมครับ)
สุดท้ายก็อยากจะขอขอบพระคุณครับ ผมดีใจมาก ที่ได้อ่านบทความที่ดีดี อย่างนี้ครับ ขอบคุณ คุณประชา สุวีรานนท์ สุดยอดครับ….

Comment by doogoo

แต่ละคนต่างมีสไตล์ที่แตกต่างกัน
จิงๆแล้วผมว่าวิชาชีพนี้มันเปนวิชาชีพที่ไร้กระบวนท่า
สิ่งที่ต้องเรียนจิงๆคือเรื่องของโปรแกรม
ที่เหลือก้อขึ้นอยู่กับความสร้างสรรค์ซึ่งแต่ละคนมีต่างกันและสไตล์ที่โดดเด่นต่างกัน
ถ้าทุกคนไม่ท้อ
ไม่หยุดการสร้างสรรคื ผมว่าแนวทางที่สดใสในอนาคตคงเกิดขึ้นแน่นนอน

Comment by torn~

รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่พบเห็นอยู่จริงๆในวงการฯบ้านเรา โดยเฉพาะการแบ่งก๊กแบ่งเหล่า แต่ถ้ามองอีกมุมนึงก็คงเป็นเรื่องของความสบายใจในการทำงานที่เราอยากทำกับคนที่รู้สึกทำด้วยแล้วจูนกันง่าย หรือคุ้นเคยมากกว่ามากกว่าคนที่ไม่รู้จัก และอีกประเด็นก็คือนิสัยที่ไม่ชอบความเสี่ยง การเปลี่ยนแปลง หรือการปรับตัวบ่อยๆ ชอบความเคยชินของนักออกแบบบ้านเรามากกว่า (จริงๆดิฉันก็เป็น)

Comment by Padme'

เห็นด้วยครับ
แต่“พิตช์“งานกันที่ด้อยกว่าเค้าก็อยู่ยากเหมือนกันนะครับ อาจด้องมีอะไรมากกว่านี้ครับผมว่านะ

Comment by ninetum

สนใจเรียนออกแบบเวบกราฟฟิกดีไซน์ ลองเข้าดู>>>>www.artanddesign.ac.th

Comment by mod

อยากเรียนมากเพิ่มประสบการณ์

Comment by ที่พักเชียงใหม่

เห็นด้วยเหมือนกันคับ ผมอยากเรียนกราฟฟิกส์ดีไซน์อยู่เหมือนกัน คงต้องศึกษาเพิ่มซะหน่อย

Comment by แหวนแต่งงาน

ผมเองก็อยากเรียนกราฟฟิกส์ดีไซน์น้ะคับ คงต้องศึกษาเองอย่างเดียวเลยแหละ

Comment by ภาษาเกาหลี

ก่อนมาเป็นกราฟฟิกดีไซน์ ถามว่าผมทำอะไรมา หรือคุณทำอะไรมา…
ผมเรียนศิลปะมาตั้งแต่มัธถยม จนจบปริญญา..สาขาออกแบบมาตลอด
จบทำงานด้านออกแบบ มากว่า10 ปี
สิ่งที่ทำให้เราต่างจากมือสมัครเล่นก็คือ..ทักษะของศิลปะ เส้น สี แสง เงา องค์ประกอบ….ที่ลุ่มลึก ซึ้งซาบ ผมว่านะ

Comment by katha




Leave a comment